สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

ประวัติความเป็นมาและการก่อตั้ง

ประวัติความเป็นมาและการก่อตั้ง

             เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับภาคประชาชนได้ร่วมกันจัดประชุมผู้มีใบประกอบโรคศิลปะด้านการแพทย์แผนไทยในจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นที่ โรงแรม บีพี เพื่อรับทราบนโยบายของรัฐและยุทธศาสตร์ของชาติ ในการส่งเสริมและพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้เป็นส่วนหนึ่ง ในการดูแลและรักษาสุขภาพของประชาชนเคียงคู่ขนานไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน

            จากการประชุมในครั้งนี้ได้แบ่งการสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อรับทราบปัญหาข้อเสนอแนะ และความต้องการและเป้าหมายให้ภาครัฐและภาคเอกชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลของการประชุมสรุปว่าภาคประชาชนจะต้องมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาพันธ์   เพื่อเป็นองค์กรสำหรับขับเคลื่อนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน และใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนเคียงคู่ขนานไปกับการแพทย์แผนปัจจุบันตามนโยบายของภาครัฐ

            ภาคประชาชนประกอบด้วยผู้แทนกลุ่มที่มีใบประกอบโรคศิลปะแผนไทย  โดยการสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  จึงได้ร่วมกันหารือถึงทิศทางการดำเนินงาน  และได้จัดให้มีการประชุมเพื่อก่อตั้งสมาพันธ์ขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2552 โดยใช้ชื่อว่า “สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา มีคณะกรรมการบริหารชุดก่อตั้งเป็นคณะทำงานชั่วคราว 1 ปี       โดย นายชลิต เขาวงศ์ทอง ได้รับเลือกให้เป็นประธานการก่อตั้งและดำเนินกิจกรรม ปัจจุบันมีคณะกรรมการบริหารที่มาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกประเภทสามัญ โดย นายวัลลภ เผ่าพนัส ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานคนปัจจุบัน และมีคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ รวม 25 คน

วัตถุประสงค์

            1   ร่วมกันอนุรักษ์ พัฒนาและเผยแพร่การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนาสู่สากล

2   เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงธุรกิจสุขภาพ    ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนาระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน

3  สร้างความเชื่อมั่นในการใช้องค์ความรู้     ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนาในการดูแลสุขภาพของประชาชน

4   เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมองค์ความรู้ ข้อมูล  และให้บริการข่าวสารด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ตลอดจนเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนา รวมทั้งการแพทย์แขนงอื่น ๆ ระหว่างมวลหมู่สมาชิก   

5 เป็นกลไกในการผลักดันกิจกรรมต่อเนื่อง   ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนาให้ได้ผลตามนโยบายของภาครัฐ และตามความต้องการของภาคเอกชนตั้งแต่ในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

6 จัดให้มีการส่งเสริมการตลาด  และการประชาสัมพันธ์ร่วมกันกับหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน

7  คุ้มครอง  ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนาของมวลหมู่สมาชิก ยกระดับมาตรฐานด้านคุณภาพและการบริการ  และดำเนินการเผยแพร่แก่สาธารณชนทั่วไป ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรม              

            8 ดำเนินกิจกรรมในการส่งเสริมให้มีการดูแล คุ้มครอง ป้องกัน และรักษาชีวิต ร่างกาย สุขภาพของประชาชน ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนา อันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป           

             9 ส่งเสริมให้มวลหมู่สมาชิกรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีการแพทย์ไทยและการแพทย์ พื้นบ้านล้านนาที่ดีงามสืบไป

            10    ให้ความช่วยเหลือ เกื้อกูล ในมวลหมู่สมาชิกตามสมควร

 

นโยบายและแผนงานในอนาคต

             สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในด้านการรักษา การใช้สมุนไพรที่ถูกหลัก ตั้งแต่ระดับตำบล โดยผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, ระดับอำเภอผ่านโรงพยาบาลชุมชน ตลอดจนระดับจังหวัด โดยทำความร่วมมือและการสนับสนุนจากสาธารณสุขจังหวัด จากนั้นจะให้แต่ละจังหวัดมีการรวมกลุ่มเพื่อตั้งเป็นสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผยไทย และการแพทย์พื้นบ้านในเขตภาคเหนือ 8 จังหวัดกลุ่มล้านนา เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนจากความต้องการของคนในชุมชน โดยคนในชุมชนและเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในชุมชน เพื่อสร้างความร่วมมือและพัฒนาคุณภาพของผู้ให้บริการ งานบริการและสถานพยาบาล การเรียนการสอน การวิจัยตลอดจนคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้ได้มาตรฐานและเหมาะสม โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  1. ระดับชุมชน เปิดโอกาสให้หมอพื้นบ้าน ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพในระดับอำเภอและจังหวัดได้ โดยต้องขึ้นทะเบียนกับสาธารณสุขจังหวัด หากมีการบริการนอกพื้นที่จังหวัดที่ขึ้นทะเบียนต้องแจ้งให้สาธารณสุขทราบเป็นครั้งๆ ไป
  2. ระดับประเทศ ผู้มีใบประกอบโรคศิลป์ สามารถนำยาสมุนไพรและวิธีการรักษาของการแพทย์พื้นบ้านมาประยุกต์ใช้และพัฒนาให้ได้มาตรฐาน ทั้งด้านยาสมุนไพร และการให้บริการ เพื่อเผยแพร่และใช้ได้อย่างกว้างขวางภายในประเทศ เป็นการลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และประเทศไทยสามารถจะพึ่งพาตนเอง ในการดูแลสุขภาพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง
  3. ระดับสากล หลังจากที่ใช้กันทั่วไปและได้ผลในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ควรจะมีการทำวิจัยในด้านชีวเคมี และปฏิกิริยาการตอบสนองทางห้องปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกให้เป็นที่ยอมรับเพื่อยกระดับมาตรฐานสู่สากล เพื่อการส่งออกในด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการดูแลสุขภาพ ตามแนวทางการแพทย์แผนไทย

สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการแพทย์แผนไทย

086117 9124

ชมรม แพทย์ แผน ไทย และ แพทย์ พื้น บ้าน ล้าน นา 149 หมู่ 2 ต.เมือง เล็น อ. สันทราย จ.เชียงใหม่ 50210