สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

ระเบียบข้อบังคับสมาพันธ์ 

หมวดที่ 1 ความทั่วไป

  • ข้อที่ 1 สมาพันธ์ เรียกว่า “ สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา ” มีชื่อย่อว่า “ สพล “ ชื่อภาษาอังกฤษว่า “ Lanna Thai Medical Federation “ มีชื่อย่อว่า “ LMF ” ในข้อบังคับนี้
  • ข้อที่ 2 เครื่องหมายสมาพันธ์ มีลักษณะเป็นลูกประคบยอดด้านบนเป็นเครื่องหมายกาแลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวล้านนา ภายในลูกประคบมีเครื่องหมายกากะบาดสีเขียวซึ่งมีความหมายในด้านการรักษาพยาบาล มีธงชาติไทยอยู่ด้านล่างเครื่องหมายกากะบาดแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ข้างขวาธงชาติเป็นใบไม้สีเขียวแสดงถึงความเป็นธรรมชาติ ด้านข้างลูกประคบทั้งสองด้านมีรูปคนยืนอยู่ใต้ลูกประคบมีสัญลักษณ์เส้นโค้ง และใต้เส้นโค้งมีชื่อสมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนาเป็นภาษาไทยอยู่ด้านบน และเป็นภาษาอังกฤษอยู่ด้านล่าง
  • สีประจำสมาพันธ์ • สีเขียว และ สีขาว

  • ข้อที่ 3 สำนักงานใหญ่ของสมาพันธ์ (ชั่วคราว) ตั้งอยู่ที่ 49 ถนนช่างหล่อ ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัด เชียงใหม่ 50100

  • ข้อที่ 4 วัตถุประสงค์ของสมาพันธ์ มีดังนี้

  • 4.1 ร่วมกันอนุรักษ์ พัฒนาและเผยแพร่การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนาสู่สากล

  • 4.2 เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงธุรกิจสุขภาพ ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนาระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน

    4.3 สร้างความเชื่อมั่นในการใช้องค์ความรู้ ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนาในการดูแลสุขภาพของประชาชน

    4.4 เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมองค์ความรู้ ข้อมูล และให้บริการข่าวสารด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ตลอดจนเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนา รวมทั้งการแพทย์แขนงอื่น ๆ ระหว่างมวลหมู่สมาชิก

    4.5 เป็นกลไกในการผลักดันกิจกรรมต่อเนื่อง ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนาให้ได้ผลตามนโยบายของภาครัฐ และตามความต้องการของภาคเอกชนตั้งแต่ในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

    4.6 จัดให้มีการส่งเสริมการตลาด และการประชาสัมพันธ์ร่วมกันกับหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน

    4.7 คุ้มครอง ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนาของมวลหมู่สมาชิก ยกระดับมาตรฐานด้านคุณภาพและการบริการ และดำเนินการเผยแพร่แก่สาธารณชนทั่วไป ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรม

    4.8 ดำเนินกิจกรรมในการส่งเสริมให้มีการดูแล คุ้มครอง ป้องกัน และรักษาชีวิต ร่างกาย สุขภาพของประชาชน ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนา อันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป

    4.9 ส่งเสริมให้มวลหมู่สมาชิกรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีการแพทย์ไทยและการแพทย์ พื้นบ้านล้านนาที่ดีงามสืบไป

    4.10 ให้ความช่วยเหลือ เกื้อกูล ในมวลหมู่สมาชิกตามสมควร

หมวดที่ 2
สมาชิก

  • ข้อที่ 5 สมาชิกสมาพันธ์ มี 3 ประเภท คือ

5.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติหรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาพันธ์ ซึ่งคณะผู้บริหารสมาพันธ์ลงมติให้เชิญเป็นสมาชิกของสมาพันธ์
5.2 สมาชิกสามัญ ได้แก่ คณะบุคคล หรือนิติบุคคล หรือองค์กรต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริม คุ้มครอง ป้องกัน ดูแลและรักษาชีวิต ร่างกายสุขภาพของประชาชน ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านล้านนา

5.3 สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดาทั่วไปที่มีความสนใจเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านล้านนา

  • ข้อที่ 6 การชำระเงินบำรุงสมาพันธ์ 6.1 สมาชิกสามัญต้องเสียค่าบำรุงสมาพันธ์เป็นรายปี ๆ ละ 500 บาท

6.2 สมาชิกวิสามัญต้องเสียค่าบำรุงสมาพันธ์เป็นรายปี ๆ ละ 100 บาท

6.3 ค่าบำรุงพิเศษ สมาพันธ์อาจเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษจากสมาชิกเพิ่มเติมได้เป็นครั้งคราว โดยที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมด

  • ข้อที่ 7 คุณสมบัติของสมาชิก สมาชิกสมาพันธ์ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ

(1) ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา

1. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

2. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

3. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลไร้ความสามรถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ

4. ไม่เคยเป็นบุคคลที่เคยต้องโทษจำคุกพิพากษาถึงที่สุดของศาลมาก่อน เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท

5. ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือเป็นโรคอันเป็นที่รังเกียจของสังคม

(2) ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลหรือคณะบุคคล ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลหรือของคณะบุคคลต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (1)

สมาชิกที่เป็นนิติบุคคลหรือคณะบุคคลต้องแต่งตั้งบุคคลธรรมดา เพื่อปฏิบัติการในหน้าที่และใช้สิทธิแทนนิติบุคคลหรือคณะบุคคลในการนี้ผู้แทนจะมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทนหรือตั้งตัวแทนช่วงมิได้

บุคคลเดียวกันจะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนสมาชิกสามัญเกินหนึ่งรายมิได้

ผู้ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสามัญและวิสามัญ ต้องยื่นใบสมัครตามแบบที่กำหนดไว้ต่อเลขาธิการสมาพันธ์ และให้เลขาธิการสมาพันธ์เสนอต่อคณะผู้บริหารสมาพันธ์ เพื่อให้คณะผู้ บริหารสมาพันธ์พิจารณามีมติเห็นประการใดแล้วให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้สมัครทราบ

  • ข้อที่ 8 การสิ้นสุดสมาชิกภาพ

8.1 ถึงแก่กรรม หรือเป็นคนสาบสูญ โดยคำสั่งของศาล หรือเป็นบุคคลล้มละลาย
8.2 เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษ หรือเพราะการกระทำโดยประมาท
8.3 ลาออกโดยได้รับอนุญาตจากคณะผู้บริหารสมาพันธ์เป็นลายลักษณ์ และจะต้องชำระหนี้สินของตนให้สมาพันธ์จนครบถ้วน
8.4 ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 7
8.5 ขาดการชำระค่าบำรุงสมาพันธ์
8.6 ที่ประชุมใหญ่ของสมาพันธ์หรือคณะผู้บริหารสมาพันธ์ ได้พิจารณาให้คัดชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤติตน นำความเสื่อมเสียมาสู่สมาชิกสมาพันธ์ สมาชิกที่เป็นสมาชิกสิ้นสุดนั้น จะยกเหตุแห่งการนั้นมาเป็นข้ออ้างเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากสมาพันธ์ หรือคณะผู้บริหารสมาพันธ์ ประการใดหาได้ไม่

  • ข้อที่ 9 สิทธิของสมาชิก มีดังนี้

9.1 สมาชิกสามัญมีสิทธิประดับเครื่องหมายสมาพันธ์
9.2 สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิได้รับเอกสารจากสมาพันธ์ ได้รับการสงเคราะห์และใช้บริการตามที่สมาพันธ์ กำหนด
9.3 สมาชิกสามัญมีสิทธิใช้สถานที่ของสมาพันธ์เพื่อจัดกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามระเบียบ
9.4 สมาชิกทุกประเภทสามารถติดต่อสอบถาม เสนอแนะให้ข้อคิดเห็นแก่คณะผู้บริหารสมาพันธ์ได้
9.5 สมาชิกสามัญมีสิทธิเสนอญัตติเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะผู้บริหารสมาพันธ์ ให้นำ เข้าระเบียบวาระเพื่อเข้าที่ประชุมใหญ่ แต่ต้องมีสมาชิกสามัญอื่นลงชื่อรับรองไว้ในญัตติไม่น้อยกว่า 10 คน
9.6 สมาชิกสามัญมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดสามารถทำหนังสือยื่นต่อคณะผู้บริหารสมาพันธ์เพื่อเรียกประชุมใหญ่เป็นกรณีพิเศษ โดยระบุเรื่องให้มีการประชุมใหญ่เป็นกรณีพิเศษนั้นไว้ในหนังสือที่ยื่นด้วย
9.7 สมาชิกสามัญมีสิทธิพิเศษในที่ประชุมใหญ่ ดังนี้
(1) เข้าร่วมประชุม
(2) อภิปรายข้อความตามที่ประชุมอยู่ในระเบียบวาระการประชุม
(3) เสนอข้อคิดเห็น หรือซักถามข้อสงสัยในข้อความที่ประชุมอยู่ในระเบียบวาระการประชุม
(4) เสนอสมาชิกอื่นให้ได้รับเลือกเป็นคณะผู้บริหารสมาพันธ์
(5) ได้รับการเสนอให้ได้รับเลือกเป็นคณะผู้บริหารสมาพันธ์
(6) ออกเสียงลงมติ
(7) รับรองข้อเสนอที่สมาชิกอื่นเสนอ
(8) เสนอให้ลงมติ
(9) ขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมโดยสมาชิกอื่น (4)-(9) เป็นสิทธิของสมาชิกเท่านั้น

  • ข้อที่ 10 หน้าที่ของสมาชิก

10.1 ปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาพันธ์ และระเบียบซึ่งคณะบริหารสมาพันธ์ได้กำหนด
10.2 ส่งเสริมร่วมมือในกิจกรรมของสมาพันธ์ ให้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ให้สมาพันธ์ตั้งอยู่ด้วยความวัฒนาถาวรสืบไป และต้องรักษาความพร้อมเพรียงในการร่วมประชุม
10.3 ต้องรักษาคุณธรรม ความดีงาม และต้องไม่ประพฤติตัวเป็นที่เสื่อมเสียด้วยประการทั้งปวง

หมวดที่ 3
การดำเนินกิจการสมาพันธ์

    • ข้อที่ 11 ให้คณะผู้บริหารสมาพันธ์ทำหน้าที่บริหารงานสมาพันธ์ จำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน แต่ไม่เกิน 25 คน โดยตำแหน่งประธานสมาพันธ์ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งจากผู้แทนสมาชิกประเภทสามัญ ส่วนกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ เช่น รองประธานสมาพันธ์ เลขาธิการ รองเลขาธิการ เหรัญญิก ผู้ช่วยเหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ วิชาการ ปฏิคม นายทะเบียน และอื่น ๆ ให้ประธานสมาพันธ์เป็นผู้แต่งตั้งจากผู้แทนสมาชิกประเภทสามัญได้ตามความเหมาะสม
    • ข้อที่ 12 คณะผู้บริหารสมาพันธ์ดังกล่าวในข้อ 11 มีวาระการดำรงตำแหน่งได้คราวละสองปี กรรมการที่พ้นจากการดำรงตำแหน่งไปแล้ว อาจได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกก็ได้
    • ข้อที่ 13 กรณีที่ตำแหน่งประธานสมาพันธ์ว่างลงก่อนครบวาระให้รองประธานสมาพันธ์รักษาการแทน และให้เลขาธิการสมาพันธ์เรียกประชุมกรรมการสมาพันธ์โดยมิชักช้า เพื่อให้กรรมการสมาพันธ์คัดเลือกประธานสมาพันธ์คนใหม่ โดยให้ดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานสมาพันธ์คนก่อนพร้อมแต่งตั้งคณะผู้บริหารสมาพันธ์ชุดใหม่ขึ้นแทนชุดเดิม
    • ข้อที่ 14 อำนาจหน้าที่คณะผู้บริหารสมาพันธ์

    14.1.1 ให้คณะผู้บริหารสมาพันธ์ประชุมครั้งแรกภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ที่ประชุมใหญ่ได้มีมติเลือกตั้งคณะผู้บริหารสมาพันธ์แล้ว และถ้าหากผู้บริหารคนใดขาดประชุมติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยไม่มีเหตุผลสมควรถือว่าหมดสิ้นในการดำเนินการบริหารสมาพันธ์
    14.1.2 คณะผู้บริหารสมาพันธ์ อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี คณะผู้บริหารสมาพันธ์ ที่พ้นจากตำแหน่งให้คงอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานสมาพันธ์ ในกรณีปกติต่อไปจนกว่าคณะผู้บริหารสมาพันธ์ ชุดใหม่เข้ารับมอบหมายงานแล้ว
    14.1.3 ผู้ขาดจากสมาชิกภาพ ย่อมขาดจากการเป็นผู้บริหารสมาพันธ์ด้วย
    14.1.4 ให้คณะผู้บริหารดำเนินกิจการของสมาพันธ์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยกำหนดเป็นนโยบายและแผนการดำเนินงานตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง
    14.1.5 นโยบายแผนงานและงบประมาณประจำปีซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้โดยมติคณะผู้บริหารสมาพันธ์ เท่านั้น
    14.1.6 พิจารณาอนุมัติการเข้าเป็นสมาชิก
    14.1.7 แต่งตั้งที่ปรึกษา หรือคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินงานสมาพันธ์ในเรื่องต่าง ๆ
    14.1.8 กำหนดระเบียบ วิธีการซึ่งไม่ขัดแย้งกับข้อบังคับของสมาพันธ์
    14.1.9 ตีความหมายในข้อบังคับของสมาพันธ์ ในกรณีที่มีปัญหา
    14.1.10 แต่งตั้งบรรจุและเลื่อนอัตราเงินเดือนหรือปลดลูกจ้างของสมาพันธ์

    • ข้อที่ 15 ผู้บริหารสมาพันธ์ แต่ละหน้าที่มีสิทธิและหน้าที่ดังนี้

    15.1 ประธานสมาพันธ์
    (1) บริหารกิจการของสมาพันธ์ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นโยบาย ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับของสมาพันธ์
    (2) เป็นประธานในที่ประชุมผู้บริหารและการประชุมใหญ่ ของสมาพันธ์
    (3) เป็นผู้แทนสมาพันธ์ ในการติดต่อกับบุคคล หน่วยงาน สถาบันทั้งในและนอกประเทศ
    (4) เป็นผู้รักษาระเบียบในการประชุม

    15.2 รองประธานสมาพันธ์
    (1) ทำหน้าที่แทนประธานสมาพันธ์ เมื่อประธานสมาพันธ์ ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
    (2) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประธานสมาพันธ์มอบหมาย

    15.3 เลขาธิการ
    (1) ลงนามในเอกสารเพื่อกำหนดวันประชุม และเอกสารสำคัญของสมาพันธ์ ตามมติคณะผู้บริหารสมาพันธ์
    (2) จัดระเบียบวาระการประชุม บันทึกการประชุม เป็นเลขาธิการและดำเนินการเกี่ยวกับการประชุม
    (3) ปฏิบัติงานสารบรรณและเก็บรักษาเอกสาร
    (4) ดำเนินกิจการของสมาพันธ์ โดยทั่วไปที่ไม่อยู่ในหน้าที่ของผู้ใด
    (5) ประสานงานกับกรรมการเจ้าหน้าที่ เพื่อให้บริการสมาพันธ์ ดำเนินไปด้วยดี
    (6) ปฏิบัติตามที่ประธานสมาพันธ์มอบหมาย
    (7) รักษาการแทนประธานสมาพันธ์ เมื่อประธานสมาพันธ์ และรองประธานสมาพันธ์ ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

    15.4 รองเลขาธิการ
    (1) ทำหน้าที่แทนเลขาธิการเมื่อเลขาธิการไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
    (2) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่เลขาธิการมอบหมาย

    15.5 ประชาสัมพันธ์
    (1) จัดทำหรือเผยแพร่ข่าวสารตลอดจนเผยแพร่กิจกรรมของสมาพันธ์

    15.6 ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์
    (1) ปฏิบัติหน้าที่แทนประชาสัมพันธ์เมื่อประชาสัมพันธ์ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
    (2) ปฏิบัติตามที่ประชาสัมพันธ์มอบหมาย

    15.7 ปฏิคม
    (1) ให้การต้อนรับ อำนวยความสะดวกแก่สมาชิกและผู้อื่นที่มาติดต่อกับสมาพันธ์
    (2) อำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกในกิจกรรมสมาพันธ์

    15.8 ผู้ช่วยปฏิคม
    (1) ปฏิบัติหน้าที่แทนปฏิคม เมื่อปฏิคมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
    (2) ปฏิบัติตามที่ปฏิคมมอบหมาย

    15.9 เหรัญญิก
    (1) เก็บรักษา เบิก-จ่ายเงินของสมาพันธ์ ตามระเบียบและตามกำหนดไว้ในข้อบังคับ
    (2) ดำเนินการเกี่ยวกับการเงินและการบัญชีของสมาพันธ์

    15.10 ผู้ช่วยเหรัญญิก
    (1) ปฏิบัติหน้าที่แทนเหรัญญิกเมื่อเหรัญญิกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
    (2) ปฏิบัติตามที่เหรัญญิกมอบหมาย

    15.11 นายทะเบียนและผู้ช่วยนายทะเบียน
    (1) จัดทำและรักษาทะเบียนประวัติของสมาชิกและจัดทำประวัติของสมาพันธ์
    (2) แก้ไขปรับปรุงทะเบียนของสมาชิกให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
    (3) จัดทำทะเบียนเกี่ยวกับวัสดุ
    (4) ให้ผู้ช่วยนายทะเบียนมีหน้าที่เช่นเดียวกับนายทะเบียนเมื่อนายทะเบียนมอบหมายงาน

    15.12 วิชาการ
    (1) จัดกิจกรรมเกี่ยวกับด้านวิชาการ และฝึกอบรมให้กับสมาชิก
    (2) จัดทำเอกสารด้านวิชาการ
    (3) จัดทำทะเบียนเกี่ยวกับพัสดุ
    (4) จัดทำกิจกรรมด้านนันทนาการให้แก่สมาชิก
    (5) จัดทำกิจกรรมด้านทัศนคติ และดูงานให้แก่สมาชิก

    15.13 กรรมการสมาพันธ์
    (1) ช่วยเหลือกิจการทั่วไปของสมาพันธ์

    15.14 ที่ปรึกษาสมาพันธ์
    (1) ให้คำปรึกษาแก่คณะผู้บริหารสมาพันธ์

    • ข้อที่ 16 กรรมการทุกตำแหน่ง เว้นประธานสมาพันธ์ ให้จัดทำโครงการแผนงานและระเบียบในการปฏิบัติกิจกรรมของตนแต่ละหน้าที่ เมื่อที่ประชุมคณะผู้บริหารสมาพันธ์อนุมัติแล้วให้ใช้ได้
    • ข้อที่ 17 คณะผู้บริหารสมาพันธ์ มีอำนาจร่างระเบียบสำหรับกิจกรรมสมาพันธ์โดยไม่ขัดข้อบังคับนี้
    • ข้อที่ 18 คณะผู้บริหารสมาพันธ์ มีสิทธิตั้งสมาชิกเป็นอนุกรรมการให้ปฏิบัติกิจการหรือดำเนินการ ใด ๆ ตามวัตถุประสงค์ของสมาพันธ์ได้ตามเห็นสมควร

หมวดที่ 4
การประชุมใหญ่

      • ข้อที่ 19 ให้มีการประชุมคณะผู้บริหารสมาพันธ์ เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาพันธ์ตาม ปกติปีละไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง โดยให้ประธานสมาพันธ์ และรองประธานสมาพันธ์เป็นผู้กำหนด และให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งให้คณะผู้บริหารสมาพันธ์ทราบ วัน เวลา และสถานที่ พร้อมทั้งระเบียบวาระการประชุมและแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
      • ข้อที่ 20 การประชุมของคณะผู้บริหารสมาพันธ์ ต้องมีกรรมการร่วมประชุมเกินครึ่งของคณะผู้บริหารทั้งหมดจึงถือว่าเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานสมาพันธ์ และรองประธานสมาพันธ์ไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งจากคณะผู้บริหารสมาพันธ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
      • ข้อที่ 21 กรรมการมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนที่ประชุมได้คนละ 1 เสียง ถ้าเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงได้ 1 เสียง เป็นเสียงชี้ขาด
      • ข้อที่ 22 ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง เพื่อปรึกษากิจการของสมาพันธ์ ดังนี้
        22.1 รายงานของคณะผู้บริหารสมาพันธ์ เกี่ยวกับกิจการในปีที่ผ่านมา
        22.2 งบดุลประจำปี
        22.3 เลือกตั้งคณะกรรมการผู้บริหารสมาพันธ์ เมื่อถึงกำหนดตามวาระ
        22.4 เลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีประจำปี
        22.5 ปรึกษากิจการของสมาพันธ์
        22.6 กิจการอื่นๆ
      • ข้อที่ 23 การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ให้เลขาธิการสมาพันธ์ แจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ ที่ประชุมพร้อมทั้งส่งเอกสารเกี่ยวกับการประชุมตามที่คณะผู้บริหารสมาพันธ์ มีมติ
        23.1 นอกจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้ว คณะผู้บริหารสมาพันธ์ อาจจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้โดย
        (1) มติคณะผู้บริหารสมาพันธ์ ให้เรียกการประชุมใหญ่วิสามัญ
        (2) สมาชิกร้องขอตามข้อบังคับ (9.6)
        23.2 การประชุมใหญ่สามัญนั้นจะต้องมีขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กรรมการได้มีมติเด็ดขาดหรือนับแต่วันที่ได้รับเรื่องขอให้การประชุมใหญ่วิสามัญจากสมาชิก
        23.3 เลขาธิการดำเนินการนัดประชุมตามระเบียบและวิธีการดังกล่าวข้างต้น
      • ข้อที่ 24 ในที่ประชุมใหญ่สามัญ หรือวิสามัญทุกครั้งจะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด การลงมติให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าการลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธาน ชี้ขาด
        24.1 ถ้าการประชุมครั้งแรกสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ให้เลขาธิการสมาพันธ์ เลื่อนการประชุมออกไปไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันไม่ครบองค์ประชุมครั้งแรก ในการประชุมครั้งที่ 2 ไม่ว่าสมาชิกจะมาประชุมจำนวนเท่าใดก็ถือว่าครบองค์ประชุม

    หมวดที่ 5
    การเงินของสมาพันธ์

    • ข้อที่ 25 สมาพันธ์ มีรายได้จาก
      25.1 เงินค่าบำรุงจากสมาชิก
      25.2 เงินที่ได้จากการบริจาค
      25.3 เงินอุดหนุน
      25.4 เงินรายได้อื่นๆ
    • ข้อที่ 26 ให้เหรัญญิกของสมาพันธ์ เป็นผู้รับผิดชอบการเงินของสมาพันธ์ ตามกฎหมายและให้ทำรายงานตลอดจนผลงานเสนอคณะผู้บริหารสมาพันธ์ เป็นระยะตามความเหมาะสม
    • ข้อที่ 27 เงินของสมาพันธ์ ให้ฝากไว้ ณ ธนาคารอันเป็นหลักฐาน แต่เหรัญญิกจะเก็บรักษาเพื่อความสะดวกแก่การจ่ายในกิจการประจำตามปกติก็ได้การเก็บรักษาเงินของเหรัญญิก ในกรณีดังกล่าวนี้ต้องไม่เกิน 3,000 บาท (สามพันบาท) การถอนเงินหรือการสั่งจ่ายเงินจากธนาคารต้องมีลายมือชื่อของประธานสมาพันธ์ และรองประธานสมาพันธ์ หรือเหรัญญิกลงลายมือชื่อร่วมกัน
    • ข้อที่ 28 ประธานสมาพันธ์ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินนอกจากรายจ่ายประจำ ในกิจการของสมาพันธ์ตามวัตถุประสงค์ได้คราวละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หากเกินจำนวนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะผู้บริหารสมาพันธ์ก่อน
    • ข้อที่ 29 ให้คณะผู้บริหารสมาพันธ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของสมาพันธ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้ตรวจ สอบบัญชีในการที่จะตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับการเงิน และเงินสดเพื่อประโยชน์แก่การตรวจ สอบ นั้นด้วย รายงานการตรวจสอบบัญชีของผู้ตรวจสอบบัญชีนี้ ให้ผู้ตรวจสอบบัญชีลงลายมือชื่อรับรองเพื่อเสนอที่ประชุมใหญ่ในปีต่อไปด้วย

    หมวดที่ 6
    การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาพันธ์

    • ข้อที่ 30 การแก้ไขข้อบังคับของสมาพันธ์ จะทำได้โดยมติที่ประชุมใหญ่ของสมาพันธ์ และต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2ใน 3 ของผู้เข้าร่วมประชุม
    • ข้อที่ 31 การเสนอแก้ไขข้อบังคับของสมาพันธ์ ทำได้ คือ
      31.1 สมาชิกเป็นผู้เสนอโดยมีสมาชิกยื่นลงนามรับรอง ไม่น้อยกว่า 30 คน โดยยื่นต่อเลขาธิการล่วงหน้าก่อนการประชุมใหญ่ ไม่น้อยกว่า 45 วัน ให้เลขาธิการส่งสำเนาข้อเสนอนั้นให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนการประชุมใหญ่
      31.2 คณะผู้บริหารสมาพันธ์ เป็นผู้เสนอ โดยแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30วัน ก่อนการประชุมใหญ่
    • ข้อที่ 32 การเลิกสมาพันธ์ จะเลิกได้โดยมติที่ประชุมใหญ่ของสมาพันธ์ ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติที่ประชุมใหญ่ให้เลิกสมาพันธ์ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด
    • ข้อที่ 33 ให้ที่ประชุมของคณะผู้บริหารสมาพันธ์ เป็นผู้ลงมติเลือกตั้งผู้ชำระบัญชี
    • ข้อที่ 34 ทรัพย์สินของสมาพันธ์ที่เหลือจากการชำระบัญชีมีอยู่เท่าใด ให้เป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่

    หมวดที่ 7
    บทเฉพาะกาล

    • ข้อที่ 35 ในวาระแรกของการก่อตั้งสมาพันธ์ ให้คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ชุดก่อตั้ง ซึ่งบริหารสมาพันธ์อยู่ มีวาระการดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นเวลา 1 ปี นับแต่ข้อบังคับสมาพันธ์พิจารณาเสร็จสิ้น และให้ดำเนินการประชุมใหญ่ เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารตามข้อ 11 ก่อนครบวาระสมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

      สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

      องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการแพทย์แผนไทย

      086117 9124

      ชมรม แพทย์ แผน ไทย และ แพทย์ พื้น บ้าน ล้าน นา 149 หมู่ 2 ต.เมือง เล็น อ. สันทราย จ.เชียงใหม่ 50210